ฝิ่น (Opium)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Papaver sonniferum L.
วงศ์ : PAPAVERACEAE
สรรพคุณ : ผลแห้งที่สกัดยางฝิ่นออกแล้ว ใช้ในขนาด 4-10 g. ใช้ทางยาโดยจะมีผลต่อปอด, ลำไส้ใหญ่, ไต เป็นยาฝาดสมาน, แก้ไอเรื้อรัง, แก้ปวด, แก้ท้องเสีย, แก้บิด, แก้ปวดท้อง, แก้โรคริดสีดวงทวาร, แก้หืดหอบ, ถอนพิษฝิ่น ส่วน alkaloids อื่น ๆ ที่พบในฝิ่นดิบนั้น จะเป็นยาเสพติด คลายกังวล สงบประสาท ช่วยให้นอนหลับ แก้ปวดเกร็ง เป็นยาฝาดสมาน ช่วยการไหลเวียนของโลหิต โดย Morphine จะถูกใช้เป็นยาแก้ปวดอย่างแรง ช่วยสงบประสาท โดยจะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนหน้า ส่วน Codeine จะมีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า จึงนำไปใช้เป็นยาแก้ไอที่ได้ผลชะงัด
ฝิ่นเป็นสารประกอบชนิดหนึ่ง ซึ่งได้จากยางของผลฝิ่น ในเนื้อฝิ่นมีสารเคมีผสมอยู่มากมาย ซึ่งประกอบด้วย โปรตีน เกลือแร่ ยางและกรดอินทรีย์เป็นแอลคะลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้ฝิ่นกลายเป็นสารเสพติดให้โทษที่ร้ายแรง แอลคะลอยด์ในฝิ่นแบ่งแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1
ออกฤทธิ์ทำให้เกิดอาการมึนเมา และเป็นยาเสพติดให้โทษโดยตรง แอลคะลอยด์ประเภทนี้ทางเภสัชวิทยาถือว่า เป็นยาทำให้นอนหลับ (Hypnotic) แอลคะลอยด์ที่เป็นสารเสพติดซึ่งออกฤทธิ์ตัวสำคัญที่สุดในฝิ่น คือ มอร์ฟีน (Morphine)
ประเภทที่ 2
ออกฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหย่อนคลายตัว ซึ่งในทางเภสัชวิทยาถือว่า แอลคะลอยด์ในฝิ่นประเภทนี้ไม่เป็นสารเสพติด แต่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายหย่อนคลายตัว ซึ่งมีปาปาเวอร์รีน
ฝิ่นเป็นพืชล้มลุกขึ้นในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 ฟุตขึ้นไป เป็นยาเสพติดที่เป็นต้นตอของยาเสพติดร้ายแรง เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเคอีน มีการลักลอบปลูกฝิ่นมากทางภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณแนวพรมแดน ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำ
เนื้อฝิ่นได้มาจากยางของผลฝิ่นที่ถูกกรีดจะมีสีขาว เมื่อถูกอากาศจะมีสีคล้ำลง กลายเป็นยางเหนียวสีน้ำตาลไหม้ หรือดำ มีกลิ่นเหม็นเขียวและรสขม เรียกว่า ฝิ่นดิบ ส่วนฝิ่นที่มีการนำมาใช้เสพ เรียกว่า ฝิ่นสุก ได้มาจากการนำฝิ่นดิบไปต้มหรือเคี่ยวจนสุก
ฤทธิ์ในทางเสพ :
ฝิ่นออกฤทธิ์กดระบบประสาท มีอาการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
จิตใจเลื่อนลอย ง่วง ซึม แก้วตาหรี่ พูดจาวกวน ความคิดเชื่องช้า ไม่รู้สึกหิว ชีพจรเต้นช้า
โทษทางกฎหมาย :
จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
มอร์ฟีน (Morphine)
มอร์ฟีนเป็นแอลคะลอยด์ (Alkaloid) ของฝิ่นที่สำคัญที่สุด ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ฝิ่นมีฤทธิ์เดชแห่งความมึนเมา ชาวเยอรมันชื่อ Serturner เป็นผู้สกัดจากฝิ่นเมื่อปี ค.ศ. 1803 (พ.ศ. 2346) ได้เป็นครั้งแรก ฝิ่นชั้นดีจะมีมอร์ฟีนประมาณ 10% - 16% ฝิ่นหนัก 1 ปอนด์นำมาสกัดจะได้มอร์ฟีนประมาณ 0.22 ออนซ์ หรือ 6.6 กรัม มอร์ฟีนมีลักษณะ 2 รูป คือ รูปอิสระ (Free) และรูปเกลือ (Salt) สำหรับที่มีลักษณะเป็นรูปของเกลือ ได้แก่ ซัลเฟท (Sulfate) ไฮโดรครอลไรด์ (Hydrochloride) อาซิเตท (Acetate) และทาร์เตรท (Tartrate) มอร์ฟีนรูปเกลือที่นิยมทำมากคือ Sulfate ในปัจจุบันมอร์ฟีนสามารถทำขึ้นได้ โดยการสังเคราะห์ด้วยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว
มอร์ฟีนเป็นผงสีขาวหรือเทาเกือบขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขม มีฤทธิ์สูงกว่าฝิ่น เสพติดได้ง่าย มีลักษณะเป็นเม็ด เป็นผง และเป็นก้อน หรือละลายบรรจุหลอดสำหรับฉีด นำเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีฉีดเป็นส่วนมาก มอร์ฟีนใช้เป็นยาหลักหรือยามาตรฐานของยาแก้ปวด ยาจำพวกนี้กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความรู้สึกเจ็บปวด ทำให้รู้สึกง่วงหลับไป และลดการทำงานของร่างกาย อาการข้างเคียงอื่น ๆ ก็คือ อาจทำให้คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดงเพราะโลหิตฉีด ม่านตาดำหดตีบ และหายใจลำบาก
ฤทธิ์ทางเสพติด :
มอร์ฟีนออกฤทธิ์กดระบบประสาท มีอาการเสพติดทั้งร่างกายและจิตใจ มีอาการขาดยาทางร่างกาย
อาการผู้เสพ :
คลื่นเหียนอาเจียน ท้องผูก เกิดอาการคันหน้า ตาแดง ซึม ง่วงนอน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม
โทษที่ได้รับ :
ร่างการทรุดโทรม สมองมึนชา สติปัญญาเสื่อมโทรม
โทษทางกฎหมาย :
จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
กระท่อม (Kratom)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mitragyna speciosa (Korth.) Haviland
วงศ์ : RUBIACEAE
สรรพคุณ : กระท่อมมีการใช้กันมานานกว่า 100 ปี ในประเทศแถบมลายูเดิม โดยใช้ทดแทนฝิ่น ใช้ถอนพิษฝิ่น โดยการเคี้ยวใบสด สูบใบแห้ง หรือใช้น้ำมันจากการกลั่นใบ จะมีฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเคลิบเคลิ้ม ชวนฝัน ไม่ถึงขนาดเป็นยาเสพติดอย่างแรง สำหรับในประเทศเรา เนื่องจากกระท่อมถูกจัดเป็นพืชเสพติด การปลูกต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐที่ได้มีพระราชบัญญัติกระท่อม ห้ามมิให้มีการปลูกและมีไว้ครอบครอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2486 ในยาไทยโบราณจะใช้ใบกระท่อมมาบำบัดอาการท้องร่วง และเคี้ยวกินแทนฝิ่น เพราะกระท่อมจะช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกาย ทนต่องานหนัก ทนแดด แต่ไม่ทนต่อฝนและความเย็น ทำให้ไม่อยากอาหาร ปากแห้ง และท้องผูก ใช้ภายนอกเป็นยาพอกบาดแผล และขับพยาธิ์ในเด็ก และเชื่อกันว่าเมื่อกินกระท่อมสดวันละ 3 ใบ จะแก้โรคเบาหวานได้
กระท่อม เป็นพืชเสพติดชนิดหนึ่ง ส่วนมากพบในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและในประเทศไทย ลักษณะเป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลางมีแก่นเป็นเนื้อไม้แข็ง ใช้ส่วนของใบเป็นสิ่งเสพติด ลักษณะใบคล้ายกระดังงาหรือใบฝรั่งต้นหนาทึบ ต้นกระท่อมมี 2 ชนิด คือ
ชนิดที่มีก้านและเส้นใบ เป็นสีแดงเรื่อ ๆ
ชนิดที่ต้นสีเขียว ใบสีเขียว ดอกกลมโตเท่าผลพุทราล้อมรอบด้วยเกสรสีแดงเรื่อ ๆ คล้ายดอกกระถิน มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น กระทุ่มโศก กระทุ่มพาย เป็นต้น
ฤทธิ์ในทางเสพ :
ในใบกระท่อมมีสารไมตราจัยนินที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีอาการเสพติดทางร่างกายเล็กน้อย มีอาการเสพติดทางจิตใจ อาจมีอาการขาดยาทางร่างกายแต่ไม่รุนแรง
อาการผู้เสพ :
ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทนแดดไม่รู้สึกร้อน ทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมมีอาการมีนงง ปากแห้ง นอนไม่หลับ ท้องผูก
โทษที่ได้รับ :
ร่างการทรุดโทรม มีอาการประสาทหลอน จิตใจสับสน
โทษทางกฎหมาย :
กระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
กัญชา (Cannabis)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cannabis sativa L.
วงศ์ : CANNABACEAE
สรรพคุณ : เมล็ดให้น้ำมันชักเงา, ทำสบู่, ผลิตเครื่องสำอาง เป็นต้น ในทางยาในขนาดที่ใช้ 9-15 g. กินเป็นยา โดยจะมีผลต่อม้าม, กระเพาะและลำไส้ใหญ่ กินเป็นยาระบายอย่างอ่อนไม่เสพติด, แก้ท้องผูก, ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้, ฆ่าเชื้อ, ต้านสารพิษบางชนิด, แก้ไอ แต่ถ้ากินมากจะทำให้อาเจียนได้ น้ำต้มจากกิ่งก้านและใบ กินเป็นยาขับปัสสาวะ น้ำยางจากใบและช่อดอกเป็นยาเสพติดคล้ายฝิ่น ใช้ในทางยาเป็นยาแก้ไข้, แก้ไอ, แก้หืดหอบ, ป้องกันการชักจากพิษบาดทะยัก, แก้ปวด ฯลฯ ช่อดอกเพศเมีย มีพิษ จัดเป็นสารเสพติดหรือพืชเสพติด เมื่อสูบมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ใช้รักษาโรคทางประสาทบางประเภท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ช่วยให้นอนหลับ, คลายความวิตกกังวล, ทำให้เกิดอาการมึนเมาเคลิบเคลิ้มและเป็นสุข
กัญชาเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉกคล้ายใบมัน สำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียว ต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ “น้ำมันกัญชา” (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง จึงได้เป็นนำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ “ยางกัญชา” (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4-8%
กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ที่ออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ ทั้งกระตุ้นประสาท กดและหลอนประสาท สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน ๆ เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้
อาการผู้เสพ :
อารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลง ความคิดเลื่อนลอยสับสน ความคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว
โทษที่ได้รับ :
หลายคนคิดว่าการเสพกัญชานั้น ไม่มีโทษภัยร้ายแรงมากนัก แต่จากการศึกษาวิจัย พบว่า กัญชาเป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมากเกินกว่าที่คาดคิด อาทิเช่น
ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพกัญชาในปริมาณมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถประกอบกิจการงานใด ๆ ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิด และการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะ Amotivation Syndrome คือ การหมดแรงจูงใจของชีวิต จะไม่คิดทำอะไรเลย อยากอยู่เฉย ๆ ไปวัน ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการทำงานเป็นอย่างมาก
ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเสพติดกัญชามีผลร้าย คล้ายกับการติดเชื้อเอดส์ (HIV) กล่าวคือ กัญชาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเสื่อมลง หรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย
ทำลายสมอง การเสพกัญชาแม้เพียงในระยะสั้น ทำให้ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำ เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภท หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
ทำให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้เสพจะอัดควันกัญชาเข้าไปในปอดลึก นานหลายวินาที การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง หรือ 20 มวนนั้น สามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า และในกัญชายังมีสารเคมีที่เป็นอันตราย สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
ทำร้ายทารกในครรภ์ กัญชาจะทำลายโครโมโซม ฉะนั้นหญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาจะพิการ มีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลส์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม
ทำลายความรู้สึกทางเพศ กัญชาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทั้งยังพบว่า ผู้เสพติดกัญชามักกลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ
ทำลายสุขภาพจิต ฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสน และมีอาการประสาทหลอน จนควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งถ้าเสพเป็นระยะเวลานาน จะทำให้มีอาการจิต
ที่มา http://www.udomsuksa.ac.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น