วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความเสี่ยงของมะเร็งในช่องปาก

ในช่องปากมีอวัยวะสำคัญหลายส่วน เหงือก ฟัน ลิ้น เพดานบน กระพุ้งแก้ม ฐานของลิ้น ริมฝีปาก หากมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณเหล่านี้ คุณต้องระวัง ! ส่วนใหญ่มะเร็งช่องปาก คุณสามารถป้องกันได้ ถ้าหากให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงต่างๆ และอย่าใกล้ชิดมัน

อะไรบ้างที่เป็นความเสี่ยง ?
บุหรี่ นอกจากมีผลทำให้เกิดมะเร็งปอดถึง 87% แล้ว บุหรี่มีผลทำให้เกิดมะเร็งในหลอดลม ลำคอ และมะเร็งช่องปากด้วย 90% ของมะเร็งในช่องปากพบในคนสูบบุหรี่ ซึ่งคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนไม่สูบถึง 6 เท่า นอกจากนี้ยังรวมถึงคนที่สูบซิการ์ pipe การเคี้ยวยาเส้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากบุหรี่ สารเคมีที่มีอยู่ในยาเส้น เป็นสารก่อมะเร็งทำให้เกิดมะเร็งบริเวณแก้ม ริมฝีปาก เหงือก ส่วนคนไม่สูบบุหรี่เลย แต่ใกล้ชิดควันของคนที่สูบบุหรี่ อยู่ในสถานที่มีควันบุหรี่มากๆ แล้วสูดเอาควันบุหรี่เหล่านั้น ก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งได้เช่นกัน
แอลกอฮอล์ ดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ มีโอกาสเสี่ยงต่อมะเร็งในช่องปาก 75-80% มะเร็งช่องปากเกิดขึ้นในคนที่ดื่มจัด และมีโอกาสเป็นมะเร็งมากถึง 6 เท่าของคนที่ไม่ดื่ม แต่ถ้าทั้งดื่มจัด สูบบุหรี่มาก ความเสี่ยงต่อมะเร็งช่องปากจะสูงขึ้นเป็นทวีคูณ
แสงอัลตร้าไวโอเลต พบว่า 30% ของคนที่เป็นมะเร็งที่ริมฝีปาก เกิดในคนที่มีอาชีพกลางแจ้ง ถูกแสงแดดประจำ วิธีที่จะลดความเสี่ยงคือให้ทา lip palm ที่มีสารป้องกันรังสียูวี หรือใส่หมวกกันแดดโดนริมฝีปากและผิวหนัง
มีสิ่งระคายเคืองในช่องปากอยู่เสมอ เช่น

- ฟันปลอมที่หลวม ใส่แล้วมีแผลในช่องปาก เป็นเวลานานๆ ไม่หาย

- มีฟันผุ คม บาดลิ้น เวลาเคี้ยวอาหาร หรือพูด

- ฟันปลอมที่แตกหักแล้วขูดช่องปากอยู่เสมอ
อาหาร ที่มีไขมันสูง เนื้อแดง เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หากเราได้รับประทานผัก ผลไม้ที่มีกากใยมากๆ ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเช่นกัน
อายุ มะเร็งในช่องปาก มีสถิติพบมากในคนอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป
เพศ มะเร็งช่องปากพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า น่าจะมีเหตุผลจากผู้ชายดื่มและสูบบุหรี่มากกว่าคุณผู้หญิง

หากมีสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้ ให้รีบปรึกษาทันตแพทย์หรือแพทย์ประจำตัวทันที

-มีสีที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนในช่องปาก เช่น มีสีแดงจัด ฝ้าขาวตามกระพุ้งแก้ม
-มีลักษณะเนื้อหนาตัวขึ้น หรือมีผิวหยาบๆ
-เป็นแผลในช่องปาก เลือดไหลง่าย
-พูด กลืน ขยับลิ้นลำบาก
-มีกลิ่นปาก
-ฟันโยก เก ขากรรไกรบวม
เป็นแผลในช่องปากเป็นเวลานานๆ ไม่หาย นอกจากในช่องปาก อาการภายนอกที่ร่วมกับมะเร็งที่น่าสังเกต คือ น้ำหนักลดอย่างฮวบฮาบ มีก้อนคลำได้บริเวณลำคอ
มะเร็งในช่องปากนั้นหากพบในระยะเริ่มต้นจะรักษาไม่ยุ่งยากและประสบความสำเร็จสูง แต่หากคุณเลี่ยงไม่นำมาซึ่งความเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในช่องปากได้ การพบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพในช่องปากเป็นประจำจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะเรื่องฟัน และเหงือกเท่านั้น แต่ทันตแพทย์เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับอวัยวะส่วนนี้ สามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติได้ง่าย เพื่อรู้ก่อนและสามารถป้องกันได้ก่อน
ที่มา  www.halalthailand.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น